จากระยะเวลาที่ผ่านมา จำนวนที่ราชพัสดุที่เหมาะสมจะสร้างสถานที่ราชการ สวนทางกับความต้องการพื้นที่ของหน่วยราชการที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้ข้าราชการกว่า ๑ ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประจำอยู่ในส่วนกลางของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการขยาย คับแคบ ต้องอยู่กันอย่างแออัด ไม่ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี หรือบางครั้งหน่วยงาน เดียวกันกลับอยู่ห่างจากกันมากจนขาดความคล่องตัวในการติดต่อประสานงาน เกิดความติดขัด ลดทอนประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานและให้บริการประชาชน
งบประมาณของรัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับรัฐมีภาระที่ต้องใช้งบลงทุนในโครงการที่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ เป็นผลให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที หลายหน่วยงานจึงเลือกที่จะขยับขยายองค์กรโดยเช่าพื้นที่อาคารจากภาคเอกชน ส่งผลให้สิ้นเปลืองงบประมาณถึงปีละกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท
กรมธนารักษ์จึงเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสและดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยการพลิกโฉมหน้าการบริหารสินทรัพย์ของภาครัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็น “มิติใหม่ของการบริหารที่ราชพัสดุ” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกหน่วยงานได้อย่างเพียงพอ เกิดเป็นอาคารล้ำสมัยขนาดใหญ่บนที่ราชพัสดุ ๒๙๗ ไร่ บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ หนึ่งในทำเลทองของกรุงเทพฯ ในชื่อ “ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” เป็นศูนย์รวมหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการและใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบอย่างแท้จริงตลอดจนเอื้ออำนวยต่อการประสานงานระหว่างหน่วยงานด้วยกันเองและให้บริการประชาชนอย่างครบวงจรในที่แห่งเดียว