ธพส. กับการพลิกหน้าประวัติศาสตร์การบริหารโครงการภาครัฐครั้งสำคัญ โดยใช้แนวคิดใหม่บริหารโครงการขนาดใหญ่และซับซ้อนให้เกิดผลสำเร็จอย่างมีคุณภาพ ก่อสร้างแล้วเสร็จทันเวลา ภายใต้งบประมาณที่กำหนด มีกระบวนการคัดสรรผู้รับเหมาอย่างโปร่งใสด้วยระบบ e-Auction ที่มีสักขีพยานมากที่สุดจากทุกภาคส่วน และเหนือสิ่งอื่นใดเป็นการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมฝ่าฟันอุปสรรค จนกำเนิดเป็น ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ในวันนี้
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีข้อจำกัด เรื่องระยะเวลาดำเนินโครงการเพียง ๔๘ เดือน เพื่อให้ทันรองรับการเข้าใช้ประโยชน์ของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่มีความประสงค์จะใช้พื้นที่กรมธนารักษ์ จึงได้ริเริ่มนำ “แนวคิด การบริหารจัดการโครงการแนวใหม่” มาใช้เป็นโครงการแรก
แนวทางดังกล่าวคือ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเสนอให้จัดตั้ง บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ขึ้นมาทำหน้าที่ก่อสร้าง บริหาร กำกับดูแลโครงการทั้งหมด และระดมทุนมาใช้ในการก่อสร้างเอง ทำให้ ธพส.มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการอย่างเต็มศักยภาพ นับเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์การบริหารโครงการภาครัฐครั้งสำคัญ
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าโครงการสูงเกือบสองหมื่นล้านบาท มีขนาดพื้นที่อาคารรวมถึง ๑,๐๓๙,๒๕๐ ตารางเมตร จึงมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารธุรกิจ อาคารจอดรถ การวางระบบสาธารณูปโภคงานภูมิสถาปัตย์ งานตกแต่งภายในและครุภัณฑ์ งานโครงข่าย ถนนเชื่อมต่อโครงการ ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดที่เกี่ยวเนื่องกับเม็ดเงินลงทุน เนื่องจากเงินลงทุนได้มาจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ โดยมีหลักทรัพย์ คือ สัญญาเช่าพื้นที่อาคาร สัญญาบริการ และ สัญญาบริการจัดหาเฟอร์นิเจอร์ ระหว่าง ธพส. กับกรมธนารักษ์ ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดออกแบบให้ได้แปลนของแต่ละอาคารเพื่อใช้ประกอบสัญญาเช่า จึงจะสามารถนำไปใช้ในการระดมทุนได้ทัน เวลาการก่อสร้าง อีกทั้งเงินที่ได้รับมามีจำนวนแน่นอนตายตัว การใช้จ่ายเงินทุนก้อนนี้จึงต้องวางแผนอย่างรัดกุม ควบคุมอย่างใกล้ชิด และต้องกำหนดช่วงเวลาของการก่อสร้าง ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการระดมทุน รวมทั้งต้องดูแลให้งานก่อสร้างเสร็จตามเวลา เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหางบประมาณบานปลาย
เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การดำเนินโครงการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เต็มไปด้วยความยุ่งยากและซับซ้อน ต้องอาศัยกลวิธีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์และเป็น “ต้นแบบ” ในการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในอนาคต เมื่อเริ่มต้น ธพส. จึงระดมทีมที่ปรึกษาด้านต่างๆ ประกอบด้วยที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้างโครงการที่ปรึกษาด้านการระดมทุน ที่ปรึกษาการวางผังแม่บท และออกแบบรายละเอียดและที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวางแผนออกแบบระบบการขนส่งและจราจร เพื่อร่วมกันวางแผน และปฏิบัติภารกิจทุกด้านให้ครอบคลุมตามเป้าหมาย